Powered By Blogger

วันอังคารที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2553

"ไส้เดือนน้อยกับรากฝอย" จากการประกวดนิทานมูลนิธิเด็กครั้งที่ 3



             เดิมนิทานเรื่องนี้ชื่อ " ไส้เดือนน้อยตะลุยดิน " เป็นการประกวดครั้งที่ 3 ครั้งเดียวกับนิทานเรื่อง "มัวซัวตัวดูดฝัน" ปีพ.ศ. 2542 ปีนี้ได้สองรางวัล คือ รางวัลภาพประกอบดีเด่นจากนิทาน "มัวซัวตัวดูดฝัน" และรางวัลชมเชยจากเรื่อง "ไส้เดือนน้อยกับรากฝอย" หรือไส้เดือนน้อยตะลุยดิน แต่งโดย ชัยรัตน์ สุชาติบุญมาก









               
              เป็นเรื่องราวของไส้เดือนน้อยผู้ต่ำต้อยต้องหลบซ่อนๆอยู่ใต้ดินกับพี่และแม่ แถมยังถูกห้ามขึ้นมาบนพื้นดิน เพราะอันตรายต่างๆนานา ไส้เดือนน้อยมีเพื่อนสนิทเป็นคุณ "รากฝอย" คอยปรึกษาถามเรื่องราวต่างๆ แต่เรื่องบนดินเรื่องของดอกไม้ คุณรากฝอยไม่รู้ ไส้เดือนน้อยจึงไปถามคุณรากแก้ว ผลคือโดนดุกลับมา แต่รากฝอยก็คอยปลอบใจ ไส้เดือนน้อยยังไม่ละความพยายามในที่สุดก็อ้อนวอนพี่ชายจนยอมให้ขึ้นไปบนพื้นดิน ไส้เดือนน้อยได้เห็นโลกที่สวยงามข้างบน ได้พบกับคุณกุหลาบแสนสวยแต่สิ่งที่ทำให้ไส้เดือนน้อยต้องสะเทือนใจ จนนอนล้มป่วยไม่สบาย เพราะคำพูดที่ดูถูกดูแคลนของ ผีเสื้อ แสนสวย ว่าไส้เดือนเป็นสัตว์ชั้นต่ำไม่คู่ควรกับสัตว์แสนสวยอย่างผีเสื้อ จนทำให้เพื่อนๆคุณตุ่นปากเป็ด รากฝอย กบ แม้แต่รากแก้วที่แสนหยิ่งก็ต้องมาเยี่ยมให้กำลังใจ รากฝอยผู้ไขปริศนาให้ไส้เดือนน้อยว่า แท้จริงแล้ว ไส้เดือนแม้จะดูต่ำสกปรกแต่ประโยชน์ที่ทำให้กับดอกไม้ ต้นไม้ มีประโยชน์มากมาย ที่ผีเสื้อจะสวยงามแค่ไหน แต่ก่อนเป็นผีเสื้อก็ต้องผ่านการเป็นดักแด้ที่น่าเกลียดเหมือนกัน













               เรื่องราวทั้งหมดก็เป็นแบบนี้แหล่ะครับ ส่วนภาพประกอบที่ลงให้ดูไม่ได้ต้นฉบับคืนดีที่ถ่ายรูปเก็บไว้ เลยให้ดูบางส่วน ช่วงโน้นกล้องดิจิตอลยังไม่แพร่หลาย ภาพที่ถ่ายก้อบปี้จากกล้องนิคอนธรรมดายังใช้ฟิล์มอยู่ คุณภาพไม่เท่ากับกล้องดิจิตอลสมัยใหม่พอดูได้ไม่ว่ากันนะครับ

วันพุธที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2553

นิทาน"ถาดทองคำ"แบบไทยๆ

                

           ตอนแรกที่รับงานมาว่า บอกตรงๆไม่รู้จัก นิทาน"ถาดทองคำ"เรื่องนี้เลย แต่นึกไว้ในใจว่าจะวาดสไตล์แบบไทยๆนี่แหล่ะ ซึ่งจริงๆสนพ.นี้ก็ให้อิสระ เพราะไม่เขามีรูปแบบงานของสนพ.นี้อยู่ ส่วนเราแหกคอกเขามาเป็นแบบตัวเองเลย ก็โชคดีที่ พี่อนุสรณ์ บก.ศิลป์ ไม่ปฏิเสธ ได้ออกแบบเองวาดเอง ทั้งหมด 7 ภาพ ก็งานหินน่าดูเพราะคุณภาพของงานที่เราเห็นที่หลายๆคนทำไว้กับสนพ.นี้ ทำให้พยายามทำให้ดีที่สุด หลังจากพิมพ์ออกมาถึงได้รู้จักนิทานนี้ จริงๆอยู่ในนิบาตชาดก แปลจากภาษามคธ(ภาษาบาลี)ให้เป็นภาษาไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 แปลจนครบ 550 เรื่อง พิม์ตั้งแต่ 2458-2499 เรื่องที่ดังๆหลายคนรู้จักมากมายเช่นกระต่ายตื่นตูม,นกกระยางหลอกกินปลาโคนันทิวิสาล,ถาดทองคำ,พญาวานรผู้เสียสละฯลฯ นอกจากนี้หลายเรื่องก็มีอยู่ในจิตรกรรมฝาผนังในหลายๆวัดที่สามารถหาดูได้(ภาพประกอบถาดทองคำเล่มนี้ ถือว่าอนุรักษ์งานจิตรกรรมฝาผนังแบบประเพณี เป็นรูปแบบไทยปัจจุบันหรือแบบร่วมสมัยแทนก็น่าจะได้) แต่ถ้าไม่รู้จักเรื่องราวว่านี่คือ นิบาตชาดกก็ดูอยากเหมือนกัน แล้วก็มีคนวาดเรื่องนี้มากมายหลายๆสไตล์ ตั้งแต่ศิลปินจิตรกรรมฝาผนังรุ่นปู่ทวดโน่น มาถึงครูเหม เวชกร ลงมาอีกก็เป็นรุ่นที่เห็นๆกัน มีพี่โอม รัชเวช,เรืองศักดิ์ ดวงพลา



ภาพจิตรกรรมฝาผนัง"ถาดทองคำ"จากวัดเครือวัลย์วรวิหาร ธนบุรี
(ภาพจาก 80 ชาดก สนพ.แสงแดด)





 
              เป็นเรื่องราวของพ่อค้าสองคนที่มีนิสัยต่างกัน คนหนึ่งละโมบเอารัดเอาเปรียบ อีกคนจริงใจซื่อสัตย์ กล่าวถึงบ้านหลังหนึ่งหลานกับยายอาศัยอยู่ด้วยกัน แต่ฐานะยากจนอาศัยขายสมบัติเก่าๆเลี้ยงตัว จนวันหนึ่งพ่อค้าคนแรกนำขบวนสินค้าผ่านเข้ามาในหมู่บ้าน หลานสาวของยายอยากได้กำไลสวยๆไว้ใส่เล่น จึงขอร้องคุณยายให้เอาถาดเก่าๆไปแลก ด้วยความรักหลานคุณยายจึงนำเอาถาดไปแรก แต่โดนพ่อค้าขี้โกงปฏิเสธบอกว่าเป็นของเก่าไม่มีค่าแต่แท้จริงพ่อค้ารู้ดีว่าเป็นถาดทองคำ มีค่ามาก ด้วยกลัวจะต้องแลกเปลี่ยนสินค้าจำนวนมากจึงทำเป็นไม่สนใจ แต่จะแวะย้อนมาอีกเพื่อให้ยายหลานตัดใจแลกถาดนี้เสีย หลานจึงเสียใจมาก แต่แล้วต่อมาพ่อค้าใจดีคนที่สองก็นำขบวนสินค้ามาแลกขายในหมู่บ้านเมื่อผ่านบ้านของยายหลานคู่เดิม หลานจึงรบเร้าให้คุณยายนำถาดมาแลกอีกด้วยเห็นว่าคนพ่อคนใหม่พูดจาไพเราะดูจริงใจดี ยายจึงนำถาดมาแลก พ่อค้ารับถาดนั้นมาดูก็ตกใจ และบอกความจริงกับยายหลานว่าเป็นถาดทองคำที่มีค่ามาก ขบวนสินค้าที่นำมายังมีราคาไม่เท่า แต่ยายหลานก็ตัดสินใจแลกด้วยความเต็มใจเพราะความซื่อสัตย์และความจริงใจของพ่อค้าคนนี้ จากนั้นพ่อค้าคนดีจึงลาจากไปพร้อมกับพ่อค้าใจคดโกงเดินทางย้อนกลับมาเพื่อจะมาเอาถาดทองคำ จากหลานยายคู่นี้อีกครั้ง จะเกิดอะไรขึ้นต่อจากนี้ก็น่าจะเดาได้ เรื่องนี้ให้แง่คิดทางสัจจะธรรมว่า "ความซื่อสัตย์นำมาซึ่งความสุขและความเจริญ"

         ข้อสังเกตอีกอย่างชาดกที่แปลมาจากภาษาบาลีดังกล่าวมีหลายๆเรื่องที่ซ้อนหรือแตกออกมาจากนิทานเอกอมตะของโลกอย่าง "ปัญจตันตระ" จากประเทศอินเดียประมาณ 200 ปีก่อนคริสกาล(ปัญจตันตระ แปลและวาดภาพประกอบโดย ศักดิ์ดา วิมลจันทร์) นิทาน ถาดทองคำ เล่มนี้ยังพอมีให้เห็นอยู่ งานมีลิขสิทธิ์อยู่ลงให้ดูเท่าที่ได้ ไว้หาภาพร่างลายเส้นมาลงให้ดูเพิ่มเติมวันหลังครับ

วันเสาร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2553

ลัก (วาดหมา) หลับ








                ปี 2543  ช่วงนั้นทำงานศิลปะ,ภาพประกอบ อยู่หอพักแถวนนทบุรี ชั้นบน มีแม่หมาอยู่ในหอไม่มีเจ้าของตกลูกมา น่าจะ 3 ตัว ออกมาก็น่ารักมีคนคว้าไปเลี้ยง 2 ตัวเหลืออยู่หนึ่ง มันก็ดุ๊กดิ๊กๆซนอยู่แถวๆนั้น หลังหอเป็นป่ากก มีกำแพงกั้น ไม่น่าเชื่อว่าจะมีคนใจร้ายคงรำคาญมันมากอยู่ชั้นล่างห้องตรงข้ามกัน ทั้งๆที่มันยังเล็กอยู่และน่ารักออกอย่างนั้น ถึงไม่ใช่คนรักหมามากมายแต่ที่เห็นกับตามันดูโหดร้ายเกินเหตุ  คนใจร้าย(ผู้หญิงซะด้วย)อาศัยตอนหอพักเงียบๆ คนไม่มีจับไอ้เปี๊ยกตัวนี้โยนลงไปหลังกำแพง สงสัยไม่ต้องชะตากันมากถึงลงโทษมันอย่างนั้น แต่ไม่รอดสายตา คงนึกว่าไม่มีใครเห็น ด้วยความที่ไม่อยากสร้างศัตรูเลยทำเงียบๆรอจังหวะช่วยอยู่ ส่วนเจ้าตัวจิ๋วก็ซวยล่ะซิ "หงิ๋งๆๆ" มันจะข้ามกลับมาก็ข้ามไม่ได้ ร้องอยู่อย่างนั้นน่าสงสาร เฮ้อ! อย่าว่าแต่หมาเลยคนยังลำบากจะปีน รอจนค่อนวัน จนคนใจร้ายห้องข้างล่างไม่อยู่ ก็รีบเอาเก้าอี้ไปวางปีนขึ้นนั่งบนกำแพงแล้วหากระดานไม้ยาวๆพาดจากกำแพงจะให้มันปีนขึ้น แต่มันยังไม่มีประสบการณ์ทำยังไงล่อยังไงมันก็ไม่ขึ้น หรือเราคิดไปเองว่ามันคงทำได้ สุดท้ายขืนชักช้า คนที่เอามันไปทิ้งกลับมาพอดี เปลี่ยนวิธีเลยตัดสินใจใช้เชือกทำบ่วงคล้องคอ คล้องทั้งตัวก็ติดขาอีกคล้องคอนี่แหล่ะ! แต่เบาๆมือหน่อยแล้วยกมันขึ้นข้ามกำแพง ก่อนยกขึ้นก็ต้องขอโทษมันเพราะรู้ว่าเชือกรัดคอมันจะเป็นยังไง จริงเสียด้วยเพราะพอยกมันขึ้นเชือกก็รัดคอมันจนตาเหลือก แต่มีวิธีเดียวนี่แหล่ะ แค่แป๊ปเดียวก็ข้ามมารอดตายไป แต่ไม่รู้ว่ามันจะโดนจับไปทิ้งอยู่อีกหรือเปล่า
  

                       



                                                    

                                                    



        หลายวันผ่านไป เจ้าตัวเล็กก็ยังวิ่งซนอยู่ ก็เบาใจว่ามันรอดแล้ว เลยตั้งชื่อมันไว้ในใจว่า "เจ้าโชคดี" หรือ เจ้า"ลัคกี้" จนมันโตขึ้น เป็นหมาเฝ้าหอวัยรุ่น แล้วชอบมานอนหน้าห้อง ไม่รู้ว่ามันจำได้ว่าคนที่ช่วยมันพักอยู่ห้องนี้ หรือเราทึกทักเอาเองก็ไม่รู้ แต่มานอนหน้าห้องอย่างนี้ก็ต้องเสียค่าที่ เสร็จเราเป็นแบบให้วาดซะดีๆ ได้มาหลายรูป เพราะชอบมานอนป็นประจำเลย เอามาให้ดูบางส่วนว่า ลัก(วาดหมา)หลับเป็นยังไงท่าไหนสวยช่วยให้คะแนนกันเองครับ




        อันนี้แถม เพิ่งสเก็ตเมื่อเช้านี้เอง ( 17 ม.ค. 2554 ) ซากนกกินปลี ไม่รู้หนาวตายหรือเป็นอะไรตาย (ปีนี้เมืองไทยหนาวนาน เขาว่าในรอบ 30 ปี) นอนแข็งทื่อที่สนามหญ้าในบ้าน เลยนั่งวาดเก็บบันทึกซะเลย  ก่อนที่สักพักใหญ่ขบวนมดจะมาเก็บกวาดไปเป็นอาหาร เป็น นกกินปลีอกเหลือง  (Olive-blacked Sunbird) นกเป็นนกประจำถิ่น(นกที่เห็นบ่อยๆตลอดทั้งปี) ไม่รู้ว่ามันชอบกินดอกปลีกล้วยหรือเปล่าเลยเรียกชื่อมันแบบนี้ เคยเห็นนกฮัมมิ่งเบิร์ดของฝรั่ง ตัวนี้น่าจะเป็นฮัมมิ่งเบิร์ดไทยๆ ไม่รู้เขาจัดเป็นพวกเดียวกันหรือเปล่า เพราะเวลาบินกินน้ำหวานจะกระพือปีกได้เร็วมาก เหมือนลอยอยู่นิ่งๆเลย ตัวนี้มาเป็นประจำชอบส่งเสียงเล็กแหลมๆ ตัวผู้สีจะสวยกว่าตัวเมีย มีสีน้ำเงินเหลือบม่วงสะท้อนแสงสวยมากตรงหน้าอก ช่วงท้องสีเหลืองตัดกันสวยดี ปากยาวไว้กินน้ำหวานดอกที่กรวยลึกๆ




       นกตัวนี้แล้วแต่โอกาสจะแวะมา แต่มาอยู่บ่อยๆบินไล่ตัวเมีย บินกินน้ำหวานจากดอกไม้เป็นที่สนุกสนาน อยู่ไม่นานก็ไปต่อ แต่ฟังจากเสียงเอาถ้าอยากดู พอร้องก็รู้ว่าเจ้าตัวนี้มา หรือถ้าอยากดูช่วงเช้ายิ่งอากาศร้อนๆ จะใช้วิธีฉีดน้ำจากสายยางพ่นเป็นฝอย เป็นละออง ไปบนต้นไม้ให้ทั่วๆ ต้นนี้บ้างต้นโน้นบ้าง รับรองถ้าเจ้านกกินปลีอยู่ใกล้ๆเขาจะมาทันที มาทำไมครับ? มาเล่นน้ำครับชอบเลยบินเล่นน้ำไม่กลัวคนเสียด้วย อาบน้ำไปในตัวไซร้ปีกไซร้ขนสนุกสนาน นี่แหล่ะมนต์เรียกนกอีกแบบ แล้วยังมีของแถมอีกคือได้ดูนกกระจิบธรรมดาด้วย ตัวเล็กเสียงดังที่สุดเลย ถ้าอยู่ใกล้จะบินมาทันทีขอเล่นน้ำเล่นสงกรานต์ด้วยคนเอ้ย!ตัว เรียกว่ายิงสายยางฉีดน้ำครั้งเดียวได้ดูนกถึงสองตัว เลย

วันพฤหัสบดีที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2553

"ตัวประหลาดเดือนเพ็ญ" นิทานเล่มแรกที่แต่งเอง/วาดเอง

        





        เริ่มแต่งนิทานเรื่องนี้ ปลายปี 2540 ได้จำได้ว่าเร่งทำเร่งวาดน่าดู เวลาจะไม่ทันใกล้สิ้นปี อยากทำให้เสร็จไปเลยไม่อยากค้างข้ามปี อีกอย่างจองตั๋วไปเที่ยว เกาะเต่า เอาไว้ล่วงหน้า เลยเร่งทำจนเสร็จ ก็ระเห็จไปปลดปล่อยกับการเที่ยวให้เต็มที่ นิทานเรื่องนี้ส่งประกวดนายอินทร์อะวอร์ดปีแรกไม่เข้ารอบอะไรกับเขาหรอก หลังจากนั้นก็เอาไปเสนอ อ.วิริยะ สิริสิงห ที่สำนักพิมพ์ชมรมเด็ก (สำนักพิมพ์สุวีริยาสาส์น) อ.อ่านเรื่องแล้วพอใจ แต่ต้องเกลาเรื่องใหม่ อ.วิริยะ รับเอาไว้ ว่าจะพิมพ์ให้ แต่วันนั้นท่าทาง อ.กำลังยุ่งๆ ทั้งทำนิทานกระดาษพับ รับสายโทรศัพท์ ไม่ต้องสงสัยเลย เวลาผ่านไปจนสิบปีเศษ.... อ.วิริยะ ลืม!









        แต่ในที่สุด 2551 นิทานเล่มแรก "ตัวประหลาดเดือนเพ็ญ" ที่แต่งเองวาดเองเป็นเล่มแรกในชีวิต ก็คลอดออกมา (อ.วิริยะ ท่านเสียชีวิต ปีเดียวกัน) ทั้งดีใจและรู้สึกไม่ดี ไม่ดีเพราะเป็นงานที่วาดเมื่อเริ่มทำนิทานเด็กใหม่ๆฝีมือเก่าเมื่อสิบปีเศษ แต่พิมพ์ออกมาเป็นหนังสือนิทานเล่มใหม่ งานเลยยังไม่ดีพอเอามาดูแล้วเห็นข้อบกพร่องหลายแห่ง แต่ยังไงๆก็ภูมิใจที่นิทานเล่มแรกที่วาดและแต่งเอง ได้พิมพ์หลังจากถูกลืมเป็นเวลานาน จนข้ามทศวรรษ ขอขอบคุณ .วิริยะ สิริสิห ขอบคุณ อ.สุภา สิริสิงห (โบตั่น ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พ.ศ. 2542) และสำนักพิมพ์ สุวีริยาสาส์น (ชมรมเด็ก) ด้วยครับ
       เรื่องย่อๆของนิทาเรื่องนี้ เกิดขึ้นณ ดินแดนแห่งหนึ่งที่เกิดความแห้งแล้ง เหล่าสัตว์ทั้งหลายหากินด้วยความลำบาก ด้วยความร้อนแรงของดวงอาทิตย์ทำให้สัตว์ทั้งหลายต้องเปลี่ยนมาออกหากินในยามค่ำคืน ซ้ำยังเกิดเรื่องเล่าลือว่ามีตัวประหลาด ร่างกายใหญ่โตมีเสียงประหลาดโผล่อาละวาดในคืนเดือนเพ็ญ เป็นที่หวาดกลัวของสัตว์ทั้งหลายในดินแดนแห่งนี้ จึงต้องอาศัยผู้กล้าไปเฝ้าดู แล้วหาหนทางแก้ไขปรึกษหารือด้วยการสร้างตัวประหลาดอีกตัวขึ้นมา เพื่อหวังให้ตัวประหลาดตัวจริงได้เกรงกลัวไม่มาอาละวาดที่นี่อีก แต่ความจริงเกี่ยวกับตัว"ประหลาดในคืนเดือนเพ็ญ"ก็ถูกเปิดเผยขึ้นในคืนนี้เอง
       ที่จริงกำลังจะเอาเรื่องนี้มาวาดภาพประกอบใหม่อยู่แล้วเชียว แล้วเอาไปเสนอ สนพ.อื่นดู ดีที่ยังไม่ได้ทำ ไม่อย่างงั้นทำแล้วเกิดได้พิมพ์ขึ้นมาลิขสิทธ์ซ้ำซ้อนกันอีก กลายเป็นเรื่องเป็นราวที่นึกๆแล้วไม่รู้จะหาทางออกยังไงดี...เฮ้อ

วันพุธที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2553

นิทานเมืองหรรษา



       ภาพประกอบนิทาน เมืองหรรษา พิมพ์ปี 2551 แต่เบื้องหลังจริงๆ ต้องย้อนกลับไปสิบปีเศษที่แล้ว ที่เริ่มทำงานภาพประกอบ ไปรับงานจาก อ.วิริยะ สิริสิงห (อ.วิริยะ เป็นผู้ร่วมคณะทำหนังสือ ชัยพฤกษ์การ์ตูน ที่โด่งดังมากในสมัยนั้น ถ้าจำไม่ผิดท่านน่าจะทำ วารสาร ชัยพฤกษ์วิทยาศาสตร์ อีกเล่มหนึ่งด้วย ตอนไปรับงานท่านยังเอาหนังสือในเครือของ ไทยวัฒนาพานิช มาซีลอกซ์ การตูนของ พี่รงค์(ณรงค์ ประภาสะโนบล) นักวาดจาก ชัยพฤกษ์การ์ตูน แจกให้ด้วย) สนพ.ชมรมเด็ก(สำนักพิมพ์สุวีริยาสาส์น) ได้ทำเรื่องนี้หนึ่งเรื่อง ส่วนอีกเรื่อง "ตัวประหลาดเดือนเพ็ญ" เป็นเรื่องแรก ที่แต่งเรื่องและวาดภาพด้วย ทั้งๆที่เพิ่งหัดทำงานภาพประกอบหนังสือเด็ก (มีประสบการณ์จากภาพประกอบหนังสือวรรณกรรมเด็กมาก่อน) อ.วิริยะ รับไว้จะพิมพ์ให้ น่าจะปี 2541 หลังจากนั้นก็เงียบหาย เจอ อ.วิริยะ เมื่อไหร่ก็ทวงถาม ผ่านไปเป็นปี ก็ทวงอีกว่า "อ.ครับเมื่อไหร่จะพิมพ์ครับ" อ.ทำหน้างงๆ(สงสัยลืมแน่ๆ) ต้องอธิบาย อ.ว่างานเรื่องนี้เล่มนี้ อ.วิริยะ บอกว่าจะกลับไปค้นใหม่ จนสองปีสามปี....คิดว่าคงไม่ได้พิมพ์แล้วเลยไม่อยากไปรบกวนอีก นานผ่านผ่านไปเป็นสิบปี












      จนเมื่อปี 2551 อ.วิริยะ ท่านเสีย(ป่วยเป็นมะเร็ง) มารู้ข่าวพร้อมๆกับ เห็นนิทานของตัวเองที่วาดภาพประกอบหนึ่งเล่มกับวาดภาพและแต่งเองอีกหนึ่งเล่มได้พิมพ์ทั้งสองเล่ม เลยโทรไปแสดงความเสียใจ กับ อ.โบตั๋น (สุภา สิริสิงห ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พ.ศ. 2542 ) ภรรยาของท่าน อ.โบตั๋น บอกว่าเพิ่งค้นเจองานสองเล่มนี้ เพราะอ.วิริยะ เก็บไว้ในตู้จนลืมยาวเลย เข้าใจว่าสนพ.คงพิมพ์งานให้ อ.วิริยะ หลายๆเล่มที่ท่านยังทำตกค้างอยู่ ให้บรรลุตามที่ท่านตั้งใจไว้ ก็ดีใจ แต่ก็รู้สึกไม่ดีตรงที่งานย้อนยุคกลับไป ยังวาดไม่ค่อยดี ไม่สวยว่างั้นเถอะ แต่มาพิมพ์เอาตอนนี้ ก็อายๆตัวเองอยู่เหมือนกัน ต้องขอบคุณ สนพ.ชมรมเด็ก(สำนักพิมพ์สุวีริยาสาส์น) และ อ.โบตั๋นด้วยครับ เลยเอาภาพมาลงรำลึกความหลังตัวเอง
     นิทาน"เมืองหรรษา" ถ้าจำไม่ผิดตอนได้ต้นฉบับมา ได้ยินอ.วิริยะบอกว่าเป็นของลูกศิษย์ท่านเองที่ท่านไปสอนพิเศษให้กับ มศว.ยังเป็นนักเรียนอยู่แต่งมาเสนอท่าน ตอนรับมาก็เห็นภาพร่างประกอบนิทานเป็นแนวญี่ปุ่น เรื่องย่อของเรื่อง มีดินแดนที่เคยมีหนูอาศัยอยู่แต่ถูกคุณแมวมายึดเมืองจนทำให้หนูๆทั้งหลายต้องอยู่อย่างหลบๆซ่อนๆ แต่แล้วเหมือนกรรมตามสนองเมื่อมียักษ์ตาเดียวเข้ามาอาละวาดจับแมวกินไปมากมาย จนราชาแมวต้องประกาศหาผู้กล้ามาสู้กับเจ้ายักษ์ตาเดียว แต่ไม่มีใครสู้เจ้ายักษ์ได้ สุดท้ายผู้กล้าของเรื่องคือ "หนูเข้ม" ที่รับอาสาปราบเจ้ายักษ์ด้วยวิธีไหนเจ้ายักษ์ตาเดียวถึงยอมแพ้และหนูเข้มได้แต่งงานกับเจ้าหญิงแมว ต้องไปหาอ่านดูยังพอมีให้เห็นอยู่