Powered By Blogger

วันพุธที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2554

โรงเรียนศิลปะสำหรับเด็กจำเป็นจริงหรือ ?

            ออกตัวก่อนเลยว่าบทความนี้แอบขออนุญาตยืมมาจาก บทความของ คุณ ภัทรา แสงดานุช นักเขียนนักวาดภาพประกอบ เขียนไว้เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2553  เรื่อง "โรงเรียนศิลปะสำหรับเด็กจำเป็นจริงหรือ ?" เห็นว่าสนใจสอดคล้องบทความก่อนหน้านี้ "ศิลปะเด็ก : ดอกไม้ในกำมือของผู้ใหญ่" ของรองศาตราจารย์เลิศ อานันทนะ เลยนำมาลงให้อ่านดูกัน
            คุณ ภัทรา แสงดานุช นำกรณีของลูกชายที่มีความสามารถทางศิลปะแต่อาจไม่เหมาะกับสถาบันศิลปะที่เปิดกันอยู่ทั่วไป มาเขียนเพื่อช่วยให้หลายคนตัดสินใจกับการส่งลูกเรียนศิลปะดีหรือไม่หลังอ่านบทความของคุณ ภัทรา แสงดานุช จบ ขอขอบคุณเจ้าของบทความที่แอบยืมมาเผยแพร่เพื่อเป็นประโยชน์กับคนอื่นๆมา ณ ที่นี้ด้วยครับ (ถ้าเจ้าของเห็นว่าละเมิดแจ้งลบได้ทันทีเลยครับ)







คุณ ภัทรา กับน้องน้ำ





                                                               แม่กับลูก






                       น้องน้ำชอบขีดๆ เขียนๆ ตั้งแต่เล็ก เขาเริ่ม “ออกแวว” ว่ามีความถนัดทางศิลปะอย่างจริงจังเมื่ออายุย่าง 4 ขวบ สิ่งที่ลูกชอบวาดไม่ใช่ภาพสวยงามกระจุ๋มกระจิ๋มประเภท “ครอบครัวของฉัน” หรือ “สัตว์เลี้ยงแสนรัก” อย่างที่มักเห็นกันทั่วไป (โดยเฉพาะตามบอร์ดโชว์ผลงานนักเรียนตามโรงเรียนต่างๆ) แต่เป็นลายเส้นของสัตว์ประหลาดขยุกขยิกยุ่งเหยิงที่มีพัฒนาการทางด้านรูปร่างหน้าตาและรายละเอียดเข้มข้นขึ้นตามวัยของคนวาด!










              แม้ลูกจะวาดลายเส้นได้ดี สังเกตได้จากการวาดตามแบบซึ่งได้สัดส่วนใกล้เคียงภาพเดิมมากโดยไม่ต้องใช้ scale ช่วย (แบบที่ฉันต้องใช้สมัยเรียนวิชา drawing ตอนเด็กๆ) แต่เขาไม่ถนัดการระบายสี พอเห็นว่าลูกมีแววศิลปิน ฉันจึงอยากช่วยส่งเสริมให้เขาก้าวหน้ามากขึ้น อีกทั้งคิดว่าหากเขาได้ “ครู” ที่เข้าใจและสามารถดึงศักยภาพของเขาออกมาได้อย่างเต็มที่คงจะดีไม่น้อย เพราะลูกจะวาดสิ่งที่ตัวเองชอบเฉพาะเวลาอยู่บ้านเท่านั้น ส่วนในชั่วโมงวาดเขียนของทางโรงเรียนลูกก็ต้อง “วาดตามหัวข้อ” เหมือนเพื่อนๆ ในชั้นเรียน



 



               ดังนั้นพอลูกขึ้นชั้นประถมฉันจึงเริ่มมองหาโรงเรียนศิลปะสำหรับเด็ก โดยอาศัยเกณฑ์ในใจ 2 ประการ คือ ต้องไม่ไกลบ้านจนเกินไปและมีชื่อเสียงการันตีได้ในระดับหนึ่ง แต่ความที่บ้านของเราอยู่ชานเมืองจึงไม่มีตัวเลือกมากนัก อย่างไรก็ตาม ในที่สุดน้องน้ำก็ได้ “เรียนพิเศษ” นอกโรงเรียนเป็นครั้งแรกในชีวิตช่วงปิดเทอมชั้นประถม 1 ที่โรงเรียนสอนศิลปะแห่งหนึ่งในแฟชั่นไอส์แลนด์





            หลังจากจบคอร์สแรก ผลงานที่ลูกได้คือภาพวาดสีชอล์กและงานศิลปะประดิษฐ์จากกระดาษและสื่อผสมต่างๆ ฉันลองหยั่งเสียงลูกว่าเขาประทับใจมากน้อยเพียงใด และต้องการเรียนคอร์สต่อไปอีกหรือไม่ ปรากฏว่าคำตอบของศิลปินน้อยคือ “ไม่” นอกจากนี้ในระหว่างคอร์ส ลูกเคยมาบ่นให้ฟังว่าสีที่ทางโรงเรียนเตรียมไว้ให้เด็กๆ ใช้แท่งสั้นเกินไป เขาใช้แล้วเจ็บนิ้วมาก แต่เมื่อฉันไปสอบถามกลับได้รับคำตอบว่าทางโรงเรียนมีสีให้เด็กๆ เลือกใช้มากเพียงพอกับความต้องการแล้ว (หมายความว่าถ้าสีที่เขาชอบมีขนาดสั้น ก็ต้องไปเลือกสีที่ไม่ชอบแต่แท่งยาวกว่าอย่างนั้นหรือ?)





            เมื่อหาโรงเรียนศิลปะที่ตรงใจไม่ได้ ฉันจึงโทรไปปรึกษาเพื่อนซึ่งเป็นครูสอนศิลปะของโรงเรียนจิตตเมตต์ และได้รับคำแนะนำว่าเด็กที่มี “พรสวรรค์” อยู่แล้วนั้นไม่จำเป็นต้องไปเรียนพิเศษที่ไหนอีก ให้เขาฝึกฝนด้วยตนเองจนค้นพบ “ตัวตน” แล้วพ่อแม่ค่อยส่งเสริมการเรียนรู้ทักษะทางศิลปะในด้านอื่นๆ เมื่อเขาเติบใหญ่ก็ยังไม่สายเกินไป หากว่ากันตามตรงแล้วโรงเรียนสอนศิลปะเด็กที่เปิดกันให้เกร่อในสมัยนี้จะแน่ใจได้อย่างไรว่ามี “คุณภาพในการสร้าง” มากกว่า “ทำลาย”ความเป็นศิลปินในตัวเด็กโดยผ่านกระบวนการแข่งขันทางธุรกิจ





                ฉันเก็บแง่คิดของเพื่อนไว้ในใจจนกระทั่งได้ไปร่วมงานบ้านและสวนแฟร์ 2009 เมื่อปีที่ผ่านมา ในงานนั้นฉันได้ชมการแสดงผลงานประติมากรรมสำริด (บรอนซ์) ของนักเรียนจากศูนย์ศิลปกรรมวิเชียรเขตต์ซึ่งน่าประทับใจมาก ทั้งยังมีโอกาสทำความรู้จักกับ อ.ญาณพล วิเชียรเขตต์ ผู้ก่อตั้งศูนย์ศิลปกรรมดังกล่าว ในที่สุดฉันจึงตัดสินใจส่งลูกชายวัย 8 ขวบเข้าร่วมเวิร์คช็อปปั้นดินน้ำมันซึ่งทางศูนย์จัดขึ้นภายในงาน พร้อมกันนั้นก็ถือโอกาสนำสมุดผลงานของลูกไปให้อาจารย์ญาณพลดู เพื่อให้ท่านแสดงความคิดเห็นติชมให้ลูกเกิดแรงบันดาลใจยิ่งขึ้น





                เป็นที่น่ายินดีเพราะอาจารย์ได้แสดงความชื่นชมผลงานของลูกจนเขาปลื้มใจมาก ทั้งยังกรุณาให้เกียรติด้วยการสเก็ตช์ภาพลายเส้นพร้อมเซ็นชื่อกำกับไว้ในสมุดของเขา แต่สิ่งที่โดนใจฉันที่สุดคือคำแนะนำเมื่อฉันถามว่าควรจะส่งลูกไปเรียนศิลปะเพิ่มเติมหรือไม่ ใครจะคาดว่าคำตอบของศิลปินผู้ก่อตั้งศูนย์ศิลปะคือ “ไม่จำเป็น” ด้วยเหตุผลเดียวกับที่เพื่อนเคยบอกไว้ พูดง่ายๆ ก็คือเด็กที่มีพรสวรรค์อยู่แล้วในตัวเอง ไม่ควรถูกทำให้เสีย self โดยโรงเรียนสอนศิลปะ!





               ทุกวันนี้ศิลปินน้อยของฉันจึงยังนั่งวาดและวาดอยู่ตามลำพัง ณ โลกแห่งจินตนาการในมุมโปรดส่วนตัวที่บ้าน คนเป็นแม่ก็โชคดีไปที่ไม่ต้องเสียสะตุ้งสตางค์ค่าเรียนพิเศษ (ซึ่งมักตามมาด้วยค่าเดินทาง ค่าอาหาร และค่าของจิปาถะที่ซื้อโดยไม่ได้ตั้งใจในยามที่ต้องรอลูกเรียนพิเศษ!)
ฝากให้พ่อแม่ที่มี “ศิลปินน้อย” อยู่ในบ้านลองไปคิดกันดูนะคะ


ขอบคุณ http://community.momypedia.com/community/blog/my_topics.aspx?bgrid=99140









แผนที่จตุจักร 2 มีนบุรี


โฆษณาให้ซะหน่อยใครรู้จักหรือเป็นแฟนหนังสือของคุณภัทรา ตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นไป พบกับร้าน Patra Garden & Collection ที่ตลาดจตุจักร 2 มีนบุรี ฝั่งถนนสีหบุรานุกิจ เปิดทุกวัน จำหน่ายพรรณไม้และของสะสม อาทิ หนังสือ เซรามิก เครื่องปั้นดินเผา ฯลฯ

5 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

search เจอบล็อกนี้โดยบังเอิญ ยินดีที่ช่วยเผยแพร่บทความค่ะ แต่ถ้าทำลิงค์ไปให้ดูบ้างจะดีมากเลย ^^

tuping กล่าวว่า...

ไม่แน่ใจว่าคุณ"แสงดาว"หรือเปล่า ไปเจอบล็อกโดยบังเอิญเช่นกันครับ เห็นว่าน่าสนใจและเป็นทางเลือกให้ผู้ปกครองตัดสินใจด้วยเลยแอบเอามาลง(เงียบๆ)ช่วยเผยแพร่ แต่ก็กลัวจะละเมิด ขออภัยด้วยคร๊าบ

Patra Sangdanuch กล่าวว่า...

ดิฉัน ภัทรา ค่ะ ^^ ไม่ใช่แสงดาว คอมเม้นท์นั้นใส่ URL - patrabooks.blogspot นึกว่าจะแสดง

tuping กล่าวว่า...

ขอโทษครับที่เขียนชื่อผิดครับคุณ ภัทรา แสงดานุช นั่นซิครับไม่รู้ทำไมไปโผล่ที่อีเมล์ผม ยังไม่ค่อยรู้เรื่องบล็อกเท่าไหร่ มือสมัครเล่นเหมือนกันครับ

KruJiab กล่าวว่า...

แวะไปที่นิทานออนไลน์มาค่ะ อ่านให้หลานสาวฟัง เธอชอบมากเลย ขอบคุณจขบ.มากๆค่ะ กำลังตามหาหนังสือเด็กดีๆทั้งไทยทั้งอังกฤษให้หลานสาวค่ะ หลานสาว 3 ขวบ 8 เดือน สังเกตว่าเขาชอบนิทานที่เป็นคำคล้องจองค่ะ