Powered By Blogger

วันศุกร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

“ทุ่งสลับสี” เริ่มต้นวาดภาพประกอบครั้งแรกที่เล่มนี้














            ปี 2537 ยังทำงานประจำอยู่ ด้วยความอยากลองทำภาพประกอบหนังสือ ซึ่งงานช่วงนั้นสามารถหาเวลาทำงานนอกได้เลยลองหอบเอางานที่วาดเล่นๆไว้กับงานเรียน ไปเสนอสำนักพิมพ์ดอกหญ้า ตอนนั้นยังอยู่ฝั่งตรงข้ามพาต้า ปิ่นเกล้า

           ก็ไม่นึกว่าจะได้งานหรอก แต่ก็ได้คำตอบด้วยการที่สำนักพิมพ์ได้ให้โอกาสวาดภาพประกอบหนังสือเล่มแรกและครั้งแรกในชีวิต นั่นคือเรื่อง “ทุ่งสลับสี”  ของ อโศก ศรีสุวรรณ  เป็นวรรณกรรมเยาวชน นักเขียนน่ะมีชื่อเสียง แต่คนวาดโนเนมมือใหม่ จำได้ว่าคนที่รับเรื่องประสานงานชื่อ “ป้อง” ไม่รู้ชื่อจริง ไม่นานก็ออกไป คนที่รับเรื่องต่อ คือพี่ตี๋ พี่จิตติ หนูสุข ตอนนั้น มีสองคนที่ผลัดกันดูแลหนังสือของดอกหญ้า อีกคนคือ พี่รักษ์ มนัญญา แต่ช่วงแรกๆติดต่อกับพี่ตี๋ตลอด






















           พอได้รับงานก็ดีใจ ด้วยความที่ไม่รู้เรื่องราวว่าขั้นตอนการวาดภาพประกอบเป็นอย่างไร ภาพวาดต้องสื่อสารกับเรื่องราวเนื้อหายังไง ไม่มีทฤษฎีอะไรเลย รู้แต่หาภาพมาวาดให้เข้ากับเรื่อง เลยกลายเป็น “ภาพประกอบ” จริงๆคือเอารูปมาประกอบแต่ไม่สื่อสารไปกับเรื่อง เช่นในเรื่องพูดถึงนกแร้งก็หาภาพนกแร้งมาวาดให้ดูดี แต่เรื่องราวบรรยากาศ ตัวละคร ไม่เป็นไปตามเรื่องเลย (อย่างที่เอาตัวอย่างมาลงให้ดู) ก็เป็นแบบนี้ทั้งเล่ม แต่ก็ได้คลอดออกมาเป็นรูปร่าง ตีพิมพ์ครั้งแรก ปี 2537 ด้วยความที่เรื่องดี นักเขียนก็เก่ง เลยโชคดีไปด้วย เพราะหนังสือเล่มนี้ได้รับรางวัลชมเชยงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ปี 2538 จำได้เลยว่าสมัยนั้นยังจัดงานอยู่ที่คุรุสภา และน่าจะเป็นปีท้ายๆแล้วล่ะมั้งที่เริ่มจะย้ายไปจัดงานที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพราจำได้ว่าตอนนั้นมีแบบสำรวจความคิดเห็นว่าจะย้ายไปจัดที่ศูนย์ฯ ตอนนั้นเชียร์เต็มที่เลย เพราะที่คุรุสภาเล็กเกินไปแล้ว และอีกอย่างคืออากาศร้อนมาก ย้ายไปจัดที่ศูนย์ประชุมฯถึงไกลกว่าแต่เดินในห้องแอร์มันน่าจะดีกว่า ออกนอกเรื่องไปไกลเลย ได้มีโอกาสสัมผัสพิธีรับรางวัลที่คุรุสภาครั้งแรกและครั้งสุดท้าย เพราะอีกประมาณสี่ปีได้ก็ย้ายแล้ว
























            ทุ่งสลับสี เป็นเรื่องราวของเด็กๆทางเหนือใช้ชีวิตกลางท้องทุ่งที่ยังมีความเป็นธรรมชาติ ได้ใช้ชีวิตอยู่กับป่าไม้สิงสาราสัตว์ ได้เรียนรู้ชีวิตในป่าในท้องทุ่ง เด็กๆ อย่าง เจิด บาง เหนี่ยม ปอ พี่อโศก คนเขียนได้ถ่ายทอดเรื่องราวที่สนุกสนานสดใส หลากหลายสีสันของเด็กๆวัยทะโมนในท่องทุ่งกว้าง ผสมผสานกับการผจญภัยแฝงการอนุรักษ์ธรรมชาติ ที่อ่านแล้วมีความสุขสบายใจเหมาะกับเยาวชนจริงๆครับ
           หลังจากเริ่มต้นวาดภาพประกอบหนังสือเล่มนี้เป็นครั้งแรก ก็ได้รับโอกาสเล่มต่อๆมา จนกระทั่ง เกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งประวัตศาสตร์ชาติไทย “โรคต้มยำกุ้ง” ระบาดกระเทือนไปค่อนโลก ไม่เฉพาะแค่ “ดอกหญ้า” บริษัทอะไรๆก็ล้มระเนระนาดไปหมด “ดอกหญ้า” กลายเป็นดอกอะไรก็ไม่รู้แล้ว ต้องย้ายสำนักพิมพ์ สองครั้งแล้วเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น สำนักพิมพ์ “ดับเบิ้ลนายน์ พริ้นติ้ง” โดยหัวเรือใหญ่สองคนคือ พี่ตี๋ พี่จิตติ หนูสุข กับ พี่รักษ์ มนัญญา

           
           แล้วโอกาสที่ ทุ่งสลับสี จะได้พิมพ์ครั้งที่สองก็มาถึง คราวนี้ตั้งใจมากขอโอกาสแก้ตัววาดใหม่ให้ดีกว่าเดิม จนสำเร็จออกมาแล้วส่งให้บก.เตรียมพิมพ์ จะเห็นอิทธิพลงานของพี่ เตรียม ชาชุมพร อยู่ในงานเป็นส่วนใหญ่เลย






                       ภาพหน้าปก "ทุ่งสลับสี" ที่จะรอพิมพ์ครั้งที่ 2 ไม่มีโอกาสอวดโฉมอีกแล้ว






                                            "บทเรียนจากเจ้านกแร้ง" ตอนแรกเลย






                                         "บทเรียนจากเจ้านกแร้ง" ตอนแรกเช่นกัน





                                                             ตอน "ไก่ป่า"







                                                           "นักล่าแห่งราตรี"












                                                                "ธนูไฟ"






                                                           นี่ก็ตอน "ธนูไฟ"












                                                  อยู่ในตอน "ปลาที่ไม่ใช่ปลา"






                                          อยู่ในตอน "ปลาที่ไม่ใช่ปลา" เหมือนกัน








                                              "รางวัลจากวัด" ตอนท้ายของเรื่อง






                                                    "รางวัลจากวัด" เหมือนกัน









ภาพนี้จบแบบหนังเลย เอาบรรยากาศร่ำลา





           แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่ได้พิมพ์เพราะพิษเศรษฐกิจยังตามหลอกหลอนจนในที่สุดก็ไม่ได้พิมพ์ สำนักพิมพ์ ดับเบิ้ลนายน์ ก็ต้องปิดฉากลงอีกครั้งด้วยความเสียดายมาก ต้นฉบับภาพวาดทั้งหมดทุกเล่มอยู่กับ พี่ตี๋ จิตติ หนูสุข ทั้งหมดยังไม่ได้รับคืนเลยสักชิ้น เพราะฉะนั้นภาพที่เอามาลงให้ดูทั้งหมดจึงเป็นภาพสำเนาที่เก็บไว้ แถมยังโดนน้ำท่วมซะอีกสภาพก็เลยไม่น่าดูเท่าที่เห็นนี่แหล่ะ ยังดีที่ยังไม่เละจนหมดสภาพ ยังเหลือเก็บเป็นความทรงจำเอาไว้บ้าง ถือเป็นประวัติศาสาตร์สำหรับตังเองที่ต้องบันทึกเอาไว้ ณ ที่นี้



ไม่มีความคิดเห็น: