Powered By Blogger

วันพฤหัสบดีที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ศิลปะเด็กเขาตัดสินกันอย่างไร “ทำไมลูกผมจึงไม่ได้รางวัล?”

      ก่อนอื่นต้องขออนุญาติ ครูปุ้ย  โรงเรียนศิลปะเด็กไทยสร้างสรรค์ ขอยืมบทความศิลปะดีๆ มาเผยแพร่ บทความของ อ.อรอนงค์ ฤทธิ์ฤาชัย (วารสารศูนย์บริการวิชาการ ปีที่ 13 ฉบับที่ 1 ประจำเดือนมกราคม - มีนาคม 2548 หน้า 7-10.) เกี่ยวกับศิลปะเด็ก น่าสนใจและมีประโยชน์ดี ต่อเนื่องกับบทความ "ศิลปะเด็ก ดอกไม้ในกำมือของผู้ใหญ่" ได้ดีเลย

ศิลปะเด็กเขาตัดสินกันอย่างไร “ทำไมลูกผมจึงไม่ได้รางวัล?”


     การจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมทางด้านศิลปะเด็กที่นิยมกันมากก็เห็นจะไม่พ้นเรื่องการจัดประกวดวาดภาพ ซึ่งมีรูปแบบอยู่ 2 ประการคือ

    ประการแรก ให้ส่งผลงานเข้าร่วมประกวด
    ประการที่สองให้มาวาดประกวดกันสดๆ เดี๋ยวนั้นเลย ซึ่งมันมีช่องว่างค่อนข้างเยอะที่จะได้งานที่บริสุทธิ์จริงๆ ในกรณีแรกนั้นไม่สามารถทราบได้เลยว่าเป็นผลงานที่เด็กทำเอง หรือมีครู ผู้ปกครองมาคอยชี้แนะให้วาดอย่างนั้นให้ทำอย่างนี้ ส่วนประการที่สองดีขึ้นมานิดหนึ่งตรงที่ เราได้เห็นกระบวนการทำงานของเด็ก ที่สำคัญคือต้องไม่แจ้งหัวข้อให้เด็กทราบล่วงหน้าเพราะไม่เช่นนั้นก็จะไม่ต่างอะไรกับกรณีแรกที่ครูหรือผู้ปกครองมีส่วนมาช่วยแต่งเติมความคิดของเด็ก เท่ากับว่างานชิ้นนั้นเสียความบริสุทธิ์ไป คุณค่าของงานก็หายไปด้วย






        ปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ในการจัดประกวดวาดภาพของเด็กก็คือ มักมีการแสดงความไม่พอใจเกิดขึ้นจากครูอาจารย์หรือผู้ปกครองของเด็ก เนื่องจากไม่เข้าใจในการตัดสินของกรรมการ ผู้ปกครองท่านหนึ่งถึงกับบ่นออกมาว่า ”ทำไมลูกเขาถึงไม่ได้รางวัลประกวดวาดภาพครั้งนี้ ทั้งๆ ที่วาดภาพและระบายสีได้สวยเป็นระเบียบไม่ออกนอกกรอบเลยสักนิด” และคงไม่ใช่มีผู้ปกครองเพียงท่านเดียวที่เคยบ่นหรือรู้สึกเช่นนี้ จากประสบการณ์ที่ได้รับเชิญให้เป็นกรรมการในการตัดสินการประกวดวาดภาพมาหลายปี เหตุผลที่เป็นเช่นนี้เพราะมีความเข้าใจในการประเมินผลงานศิลปะเด็กของผู้ปกครองกับกรรมการตัดสินยังไม่ตรงกัน ไม่ใช่แค่ผู้ปกครองเท่านั้น ครูอาจารย์ที่สอนศิลปะเองก็ยังไม่เข้าใจว่าทำไมลูกศิษย์ของตนจึงไม่ได้รับรางวัลหรือไม่ได้รางวัลที่คาดหวังไว้ บางครั้งก็แสดงอารมณ์ความไม่พอใจออกมา




           ประการที่สำคัญที่สุดก็คงด้วยใจที่ลำเอียงไปทางลูกหลานหรือลูกศิษย์ของตนเองมาเป็นอันดับแรก หรือในบางครั้งกรรมการตัดสินก็เห็นไม่ตรงกัน ด้วยใจที่มองว่าตนเองชอบภาพนั้นด้วยเหตุผลส่วนตัวของแต่ละคนไป หรือบางท่านเป็นศิลปินวาดภาพที่มีฝีมือฉกาจแต่อาจขาดความเข้าใจในศิลปะเด็ก ซึ่งต้องใช้เกณฑ์คนละอย่างมาวัดต่างจากศิลปะของผู้ใหญ่ที่เน้นในเรื่องของฝีมือมากกว่า
           ศิลปะจึงเป็นเรื่องยากที่จะมาตัดสินเหมือนคณิตศาสตร์ที่มีคำตอบตายตัวว่า 1+1= 2 ศิลปะไม่มีถูกผิดแต่ไม่ใช่ว่าจะไม่มีวิธีการประเมินหรือตัดสิน น้อยคนนักที่จะได้ทราบว่าเขาใช้หลักเกณฑ์ใดมาวัดหรือตัดสินกัน โดยส่วนตัวแล้วก็ไม่เห็นด้วยนักกับการจัดประกวดวาดภาพ เพราะจุดประสงค์สำคัญของการทำงานศิลปะนั้นก็เพื่อให้เด็กได้มีพัฒนาการที่ดีทางร่างกาย อารมณ์ สังคม สติปัญญา รวมถึงมีความสุข มีจินตนาการ และมีความมั่นใจในการแสดงออก แต่กลายเป็นว่าเด็กมุ่งหวังและให้ความสำคัญกับรางวัลมากกว่าสิ่งที่เขาควรจะได้รับ ครูก็เป็นบุคคลหนึ่งซึ่งคอยบีบคั้นเด็กในการทำงานศิลปะ เพราะถ้าเด็กได้รับรางวัลก็จะกลายเป็นผลงานของครูไปด้วย จึงมีความมุ่งหวังค่อนข้างมาก ทำให้เด็กบางคนเก็บอารมณ์ความรู้สึกเอาไว้ไม่ไหว ถึงกับร้องไห้ออกมาเพราะเสียใจที่ตนเองไม่ได้รางวัลที่หนึ่งทั้งๆ ที่เคยประกวดได้รางวัลที่หนึ่งมาตลอด หรืออาจจะร้องเพราะกลัวครูจะไม่พอใจก็เป็นได้







           ศิลปะเป็นสิ่งง่ายที่เด็กจะได้สัมผัสและเรียนรู้ แต่กลับกลายเป็นการทำงานศิลปะด้วยความเครียดไป จะเห็นได้ว่าการพัฒนาด้านศิลปะเด็กในประเทศไทยยังคงวนเวียนอยู่เพียงแค่การประกวดวาดภาพเป็นส่วนใหญ่ ยังไม่เห็นความสำคัญและประโยชน์ของศิลปะที่แท้จริง ซึ่งในต่างประเทศจะให้การส่งเสริมทางด้านศิลปะเด็กค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ หรือเวลาในการสอน ประเทศไทยกลับมองว่ามีหรือไม่มีก็ได้ บางโรงเรียนไม่มีครูศิลปะและไม่มีวิชาศิลปศึกษาก็มี ทั้งนี้เพราะความเข้าใจที่มุ่งไปว่าคนเรียนเก่งมักต้องเรียนคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ในเมื่อมุ่งเน้นและให้ความสนใจไปคนละทิศทางแล้ว มันก็ยากที่คนเรียนศิลปศึกษาที่เป็นคนกลุ่มเล็กๆ จะช่วยกันส่งเสริมและเผยแพร่ให้คนทั่วไปได้เข้าใจถึงความสำคัญของศิลปศึกษา ถ้าเป็นเช่นนี้ต่อไป ศาสตร์ อาจจะถูกกลืนหายไปในไม่ช้า




        ได้มีนักวิชาการที่กล่าวถึงเกณฑ์ในการตัดสินผลงานศิลปะเด็กอยู่บ้าง ซึ่งน่าจะเป็นแนวทางที่เป็นประโยชน์ต่อหลายๆ ฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นกรรมการตัดสิน ครูหรือผู้ปกครอง หรือแม้กระทั่งตัวเด็กเอง เพื่อจะได้คลายข้อข้องใจต่างๆ และเข้าใจได้ตรงกัน จริงๆ อาจจะมีการตั้งเกณฑ์ขึ้นมาตามความเห็นชอบของคณะกรรมการตัดสิน ซึ่งอาจไม่ใช่หลักเกณฑ์เดียวกับที่จะนำเสนอให้ทราบ ทั้งนี้ก็แล้วแต่สถานการณ์และการปรับใช้ ไม่มีกฎระเบียบตายตัว ดังนั้นจึงอยากเสนอแนะให้ทราบเป็นกรอบความคิดไว้กว้างๆ เกี่ยวกับเกณฑ์การตัดสินการประกวดวาดภาพไว้ ดังนี้






         1. ด้านเนื้อหาเรื่องราวของภาพ กรรมการค่อนข้างจะให้ความสำคัญกับด้านเนื้อหาค่อนข้างสูง และพิจารณาเป็นอันดับแรกว่าตรงตามหัวข้อที่กำหนดไว้หรือไม่ หากผลงานชิ้นใดสามารถสื่อออกมาได้ชัดเจนและมีเนื้อหาตรงตามที่กำหนดไว้ก็จะได้รับการพิจารณาก่อน

         2. ด้านองค์ประกอบของภาพ ได้แก่

         2.1 การร่างภาพ ได้แก่ ความสามารถในการร่างภาพ และร่างรายละเอียดหรือส่วนประกอบต่างๆ    ของภาพ รวมไปถึงความมั่นใจในการแสดงออกในการใช้เส้น
         2.2 การจัดภาพ ได้แก่ ความสมดุลของภาพ (ซ้าย-ขวา/บน-ล่าง) ความมีเอกภาพของภาพ (ควบคุมได้ไม่กระจัดกระจาย) และการเน้นจุดสนใจในภาพ
         2.3 ทักษะการใช้วัสดุ ได้แก่ ความสามารถในการระบายสี การเลือกใช้คู่สีได้สวยงาม ความหลากหลายของสีในภาพ (เหมาะสม) การแทนค่าสีอ่อน-แก่ เรื่องการระบายสีค่อนข้างเป็นสิ่งสำคัญเพราะผลงานจะออกมาเห็นได้เด่นชัด อย่างที่กล่าวในข้างต้นว่าผู้ปกครองบางท่านสงสัยว่าทำไมลูกของตนระบายสีได้อย่างเรียบร้อยจึงไม่ได้รับรางวัลในการประกวด เด็กบางคนระบายสีดูเหมือนเลอะเทอะ กรรมการกลับคัดเลือกให้ได้รางวัล ทั้งนี้เนื่องจากกรรมการมองว่าเด็กได้แสดงออกอย่างบริสุทธิ์ไร้เดียงสา มีการ ระบายสีแบบแสดงร่องรอยฝีแปรง มีความมั่นใจในการแสดงออก ไม่ได้ถูกผู้ใหญ่บังคับหรือชี้นำให้ทำตาม แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าครูจะต้องไปสอนให้เด็กระบายสีแบบเลอะเทอะเพื่อให้ได้รางวัล เพราะกรรมการต้องพิจารณาจากวัยของเด็กแล้วว่าสามารถระบายสีแบบเรียบร้อยได้หรือยัง
         2.4 ความงามทางศิลปะ ได้แก่ ความกลมกลืนของเส้น สี พื้นผิว รูปร่าง

         3. ด้านความคิดสร้างสรรค์ ได้แก่ ความคิดสร้างสรรค์ด้านเนื้อหา ด้านการใช้สี ด้านการจัดภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องเป็นผลงานที่มีความโดเด่นแตกต่างจากคนอื่นๆ ที่เคยมีมา




         4. ด้านการเปรียบเทียบผลงานกับพัฒนาการการวาดภาพของเด็ก โดยพิจารณาว่าผลงานเป็นไปตามพัฒนาการการวาดภาพของเด็กหรือไม่

         5. มีความมั่นใจในการแสดงออก โดยดูจากการร่างภาพ การระบายสี เป็นต้น

         6. ความบริสุทธิ์ของงานที่ปราศจากความคิดของผู้ใหญ่ชี้นำ ข้อนี้สำคัญมากเพราะเด็กที่ประกวดวาดภาพส่วนใหญ่มักได้รับการฝึกฝนจากผู้ปกครองครูอาจารย์มาค่อนข้างดี ซึ่งอาจไม่ยุติธรรมกับเด็กที่คิดและสร้างสรรค์ผลงานขึ้นมาเอง ดังนั้นกรรมการจึงควรจะมีความละเอียดในการพิจารณาเพื่อคัดเลือกผลงานที่ค่อนข้างมีความบริสุทธิ์ไร้เดียงสาให้ได้มากที่สุด



           เราอาจพิจารณาตามพัฒนาการ ในการวาดภาพของเด็กประกอบด้วย ซึ่งโลเวนเฟนด์
( Victor Lowenfeld) ได้กล่าวถึงพัฒนาการการวาดภาพของเด็กในระดับ อนุบาลไว้ดังนี้

           · ขั้นขีดเขี่ย (อายุ 2-4 ขวบ) คือเริ่มการขีดเขี่ยที่ปราศจากการควบคุม ต่อจากนั้นจะสามารถควบคุมมือให้เคลื่อนไหวซ้ำๆ กัน เป็นการเพิ่มความสัมพันธ์ระหว่างมือกับตา หลังจากนั้นก็จะเริ่มกำหนดชื่อรูปทรงต่างๆ ที่สร้างขึ้น เปลี่ยนแปลงจากความพึงพอใจในการเคลื่อนไหว มาสู่การคิด จินตนาการ โดยเด็กจะเริ่มมองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างภาพเขียนและโลกภายนอก และตระหนักว่าวัตถุที่มองเห็นสามารถนำมาสร้างเป็นภาพได้

           · ขั้นเริ่มสัญลักษณ์ (อายุ 4-7 ขวบ) เด็กจะถือตัวเองเป็นศูนย์กลางของสิ่งต่างๆ สัญลักษณ์ที่ปรากฏในภาพขึ้นอยู่กับการรับรู้ของเด็กเอง เด็กเขียนภาพตามที่เขารู้ ไม่ใช่ตามที่เขามองเห็นเท่านั้น รูปทรงที่โปร่งใสหรือมีลักษณะเหมือนภาพเอ็กซ์เรย์ ชี้ให้เห็นว่า เด็กรับรู้อย่างไร ไม่ใช่เพียงการมองเห็นได้มุมใดมุมหนึ่งเท่านั้น ภาพเขียนจะแสดงถึงความสนใจต่อความสัมพันธ์ของสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำหนดบริเวณว่างบนพื้นภาพ เด็กเริ่มจะสนใจเส้นกับรูปร่างเรขาคณิตมากขึ้น
           ทั้งนี้ไม่ใช่ว่าเด็กทุกคนจะต้องมีพัฒนาการทางการวาดภาพเท่าๆ กัน เด็กบางคนอาจจะต่ำกว่า หรือบางคนอาจจะมากกว่าขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและการส่งเสริมจากผู้ใหญ่อีกด้วย







           ความจริงได้กล่าวไว้ข้างต้นแล้วว่าไม่เห็นด้วยกับการจัดประกวดวาดภาพนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเด็กเล็กๆ ที่น่าจะเป็นการปล่อยให้เด็กได้แสดงออกอย่างอิสระเสรี ไม่มีถูกผิด ไม่มีการเปรียบเทียบผลงานกันว่าใครดีกว่าหรือด้อยกว่าอย่างไร เพราะจะเป็นการทำลายความคิดและจินตนาการของเด็กไปโดยไม่รู้ตัว
            อย่างไรก็ตาม อยากฝากให้ผู้ใหญ่ทุกคนได้ทำความเข้าใจเมื่อเด็กวาดภาพด้วยว่า ควรจะให้การส่งเสริมและให้กำลังใจเด็ก ดีกว่าการติ และบังคับให้เด็กทำตามอย่างที่ใจผู้ใหญ่ต้องการ เพราะนั่นเท่ากับว่าเป็นการบั่นทอนความคิดและจินตนาการของเด็กไป ซึ่งจะเป็นผลกระทบตามมาเมื่อเขาโตขึ้น

เอกสารอ้างอิง
ชัยณรงค์ เจริญพานิชย์กุล. (2533) พัฒนาเด็กด้วยศิลปะ. กรุงเทพฯ : บริษัท แปลน พัลลิชชิ่ง จำกัด.
Lowenfeld,Victor,and W.Lambert Brittian. Creative and Mental Growth. The Macmillan Company,London,1970.

ไม่มีความคิดเห็น: