Powered By Blogger

วันพุธที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2554

"ไมยราพสะกดทัพ" เกือบจะเลิกวาดภาพประกอบหนังสือเพราะนิทานเรื่องนี้

 


             นำเรื่องนี้มาเล่าแลกเปลี่ยนประสบการณ์ กับคนทำงานศิลปะ งานภาพปะกอบ หลายๆคนคงมีประสบการณ์ที่คล้ายๆกัน ว่าด้วยเรื่อง นิทาน ไมยราพสะกดทัพ เรื่องนี้น่าจะเป็น นิทานเล่มที่สอง ที่เรียบเรียงและวาดภาพประกอบเอง แต่เอาต้นเรื่องเดิมมาเล่าใหม่ แบ่งตอนกำหนดภาพให้ตรงกับเรื่องกับความคิดที่เราอยากเสนอเป็นเรื่องเป็นรูปเล่มออกมา ต่อจาก นิทานเรื่อง "ตัวประหลาดเดือนเพ็ญ" ซึ่งพิมพ์ย้อนหลัง เคยถามพี่ "เจ"  สุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการ สถาบันการ์ตูนไทยว่า นิทานเก่าๆ หรือนิทานพื้นบ้าน อย่างรามเกียรติ์ ถ้าเรานำเรื่องมาเกลามาเรียบเรียงใหม่ และวาดภาพประกอบในมุมมองของเรา ถือว่าเราเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ทั้งเรื่องและภาพใช่ไหม คำตอบคือ "ถูกต้อง"            
           
             หลังจาก ได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวดนิทานมูลนิธิเด็ก  3 ครั้ง จากเรื่อง ตุ๊กแกเบิ้ม,มัวซัวตัวดูดฝัน และ เจ้าชายแตงโม (ไม่รวมรองชนะเลิศและชมเชยด้วย) สำนักพิมพ์มูลนิธิเด็กได้พูดคุยด้วย ลงท้ายคือต้องเลิกส่งประกวดเพื่อเปิดโอกาสให้คนอื่นบ้าง แต่ว่าปีนั้นได้เตรียมงานที่จะส่งประกวดอยู่พอดี ทางสนพ.จึงให้เป็นกรรมการตัดสินการประกวดในหัวข้อที่นำเรื่องรามเกียรติ์มาทำเป็นนิทานและให้สิทธิ์ทำนิทานรามเกียรติ์ด้วย แต่ไม่อยู่ในเงื่อนไขของการประกวด ตามเข้าใจเหมือนที่ พี่ เจ บอก ก็ดีใจว่าเอาล่ะเล่มนี้จะเป็นนิทานเล่มแรกที่วาดภาพประกอบแล้วเรียบเรียงเรื่องตามบอกไว้ เพราะได้สิทธิ์เลือกตอนในเรื่องรามเกียรติ์เอง วาดภาพประกอบเอง(ถ้า "ตัวประหลาดเดือนเพ็ญ" ไม่ได้พิมพ์)







           และประจวบเหมาะช่วงนั้นได้รายการ "เจาะใจ" เป็นตอนที่นำดารา รุ่นคุณป้า คุณ มยุรี อิศระเสนารักษ์ (ถ้านามสกุลเขียนผิดของอภัย) มาเล่าเรื่องมาร้องบทกลอนเกี่ยวกับนิทานจักรๆวงษ์ๆ รวมทั้งรามเกียรติ์ ที่ท่านแม่นมาก มาพูดคุยในรายการ เลยจดเบอร์ของท่านไว้ วันรุ่งขึ้น ก็โทรปรึกษาคุณป้ามยุรี ทันที ว่าผมกำลังจะทำนิทานรามเกียรติ์ ดูรายการ เจาะใจ ประทับใจมากอยากขอความรู้จากคุณป้าว่าจะเลือกตอนไหนมาทำนิทานให้เด็กๆอ่านดี คุณป้ามยุรี ท่านก็แนะว่าให้เลือกตอน หนุมานกับมัจฉานุ ซิตอนนี้แสดงถึงความรักระหว่างพ่อกับลูก และแสดงถึงความกตัญญู ของมัจฉานุด้วย ตอนนี้เหมาะกับเด็กๆเพราะมีความน่ารักในตัว ท่านก็แนะนำด้วยความเมตตาเหมือนลูกเหมือนหลาน ได้การเลยครับ ก็เลยบอกท่านไปว่าถ้าเล่มนี้ได้พิมพ์ จะเป็นผลงานเล่มแรกของผมเลยนะครับ แล้วจะส่งหนังสือไปให้คุณป้าถ้าพิมพ์เสร็จ แต่ได้คำแนะนำมาก็ต้องมาขยายตอน เพราะถ้าหยิบแต่หนุมานพบมัจฉานุ ก็สั้นเกินไปเลย จับเอาตอน ไมยราพสะกดทัพ มาทำนิทานรามเกียรติ์ ที่มีฉากหนุมานได้พบลูกคือมัจฉานุด้วย คือแก้ปัญหาไปด้วย

          







             ในที่สุด นิทาน ไมยราพสะกดทัพ ก็ได้พิมพ์ออกมาเป็นรูปเล่ม แต่กลับไม่ได้เป็นเล่มแรกในชีวิต ที่เรียบเรียงเรื่องและวาดภาพประกอบเอง ยังคงได้เป็นแค่คนทำภาพประกอบอย่างเดียวอยู่เหมือนเดิม ตกลง พี่ เจ พูดผิดหรือเปล่า รู้สึกเสียใจมากเลยเป็นที่มาของหัวเรื่อง นิทาน ไมยราพสะกดทัพ เกือบจะเลิกวาดภาพประกอบหนังสือเพราะนิทานเรื่องนี้

             ฝากบอกและขอโทษ คุณป้า มยุรี อิสระเสนรักษ์ ว่าขอโทษที่ไม่ได้ส่งหนังสือนิทานเรื่องนี้ไปให้คุณป้าเพราะเหมือนโกหกท่านว่าเล่มนี้เป็นผลงานของตัวเองทั้งเล่ม อายด้วย และพอดีคุณป้าก็เปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์ ติดต่อกับทางรายการ เจาะใจ ก็มีแต่เบอร์เดิม เลยไม่รู้จะขอโทษคุณป้าทางไหนดีขอโทษผ่านทางนี้ก็แล้วกันครับ  (ตอนที่ไปร่วมประชุมเรื่องลิทธิ์สิทธิของคนทำงานศิลปะและภาพประกอบ กับทาง กรมทรัพย์สินทางปัญญา ของกระทรวงพาณิชย์ ก็หยิบนิทานเรื่องนี้ไปถกกันในที่ประชุมด้วย วันหลังจะเอาเนื้อหาที่ประชุมมาเล่าให้ฟัง เพื่อเป็นประโยชน์เป็นความรู้กับคนทำงานภาพประกอบ งานศิลปะด้วย ขอเวลาไปค้นเอกสารก่อน)
  
            นิทานเล่มนี้ทางสนพ.ได้นำไปลงเป็นนิทานออน์ไลน์ด้วย หลังประชุมกับกระทรวงพาณิชย์เรื่องนี้นักกฎหมายของกรมทรัพย์สินฯว่าให้ความเห็นว่าไม่ถูกต้องเลยต้องบอกทางสนพ.ให้นำนิทานเรื่องนี้ออกจากเว็ป เพราะไม่ใช่การประกวดลิขสิทธ์ภาพก็ไม่ได้เป็นของสนพ. ช่วงนั้นเลยเลิกและหันหลังให้กับงานภาพประกอบไปทุ่มเทกับงานศิลปะอย่างจริงๆจังเสียที แต่พี่ ศักดา วิมลจันทร์ นักวาดการ์ตูนและภาพประกอบชื่อดังจากหนังสือ "ฟ้าเมืองไทย" คนที่เคารพรักเป็นผู้ที่ฉุด ที่รั้งไว้ว่าให้อยู่ทำงานการ์ตูน งานภาพประกอบก่อน สายไปเสียแล้วเลิกทำภาพประกอบหันหลังให้อยู่สองปี จนตอนหลังมีบก. หนังสือธรรมะของอัมรินทร์มาหาด้วยความเกรงใจรุ่นน้องที่แนะนำมา ในที่สุดก็เลยรับปากหันกลับมาทำภาพประกอบหนังสือธรรมะของท่าน พุทธทาสภิกขุ ให้แค่เจ้าเดียว จนกลับมาทำภาพประกอบหนังสือต่อจนทุกวันนี้












          คนทำภาพประกอบคงพบเจอกับปัญญาเหล่านี้กันมาบ้าง แล้วแต่เหตุการณ์ของแต่ละคน รุ่นมืออาชีพรุ่นใหญ่ก็ยังมีปัญหากับบางสนพ.อยู่เหมือนกันแต่เอามาพูดไม่ได้ ก็คงอดทนต้องต่อสู้กันต่อไปด้วยความรักและทุ่มเทกับงานที่ตัวเองรัก  ก็ขอให้กำลังใจสู้ๆกัน ยังมีหลายๆสนพ.ที่เป็นตัวอย่างเป็นสนพ.ที่ดีที่เคารพในลิทธิ์สิทธิ์อย่างถูกต้อง ให้กำลังใจตัวเองแล้วทำงานต่อดีกว่าครับร่วมมือกับสนพ.เพื่อสร้างสรรค์งานหนังสือดีๆมาออกมามากๆ ขอบคุณที่สนพ.มูลนิธิเด็กที่ให้โอกาสพิมพ์หนังสือเล่มนี้ครับ นิทานเล่มนนี้ยังได้รับรางวัลประกาศเกียรติคุณนักวาดภาพ IBBY Honour List 2006 International Boad on Books for Young People (IBBY)







         ขอบคุณ พี่ฝน หยาดฝน ธัญโชติกาณต์ บรรณาธิการ สำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก ที่ให้โอกาส และทำให้หันกลับมาทำงานภาพประกอบและภาพประกอบนิทานเด็กอย่างจริงจังๆอีกครั้ง ยังทำให้พอมองเห็นแสงสว่างรำไรๆที่ปลายทางไกลๆลิบๆอยู่บ้าง ขอบคุณสำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก ที่ให้โอกาส ที่ๆเริ่มต้นงานภาพประกอบนิทานที่นี่ และต่อๆไป ขอบคุณครับขอบคุณ







2 รางวัล หนังสือดีเด่นระดับโลก ปี 2548

"น.พ.เกษม" องคมนตรีมอบรางวัลให้ผู้จัดทำหนังสือ "รามเกียรติ์ ตอนไมยราพ สะกดทัพ" และ "เพื่อนรักริมโขง" เป็นหนังสือดีเด่นระดับโลก ในปีเดียวกัน ที่ศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สยามสแควร์มีพิธีมอบรางวัลหนังสือดีเด่นของมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก (The International Boad on Books for Young People (IBBY) Honour List 2006) ศ.เกียรติคุณ น.พ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรีและประธานกรรมการมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็กเป็นประธาน รศ.สุพรรณี วราทร ประธานคณะกรรมการตัดสินหนังสือดีเด่นของมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก (IBBY Honour List 2006) บอกว่ามูลนิธิเป็นสมาชิก The IBBY องค์การสากลด้านหนังสือสำหรับเด็กและเยาวชน มีกิจกรรมสำคัญคือ จัดทำ IBBY Honour List รวบรวมและเผยแพร่หนังสือสำหรับเด็กและเยาวชนดีเด่นในรอบ 2 ปี คณะกรรมการจึงมีมติคัดเลือกหนังสือดีเด่น IBBY Honour List จากประเทศไทย ประจำปี 2548 ได้แก่ ประเภทหนังสือภาพสำหรับเด็ก ประกาศเกียรติคุณสำหรับนักวาดภาพ IBBY Honour List 2006 International Boad on Books for Young People (IBBY) คือ "รามเกียรติ์ ตอนไมยราพ สะกดทัพ" ภาพโดย วีระยุทธ เลิศสุดวิชัย (ดูรายชื่อ Illustrators  ที่ IBBY Honour List 2006)
ประเภทวรรณกรรมสำหรับเด็กและเยาวชน ประกาศเกียรติคุณสำหรับนักเขียนคือ "เพื่อนรักริมโขง" แต่งโดย เขมชาติ (เขม ชุดทอง)
"หนังสือดีเด่นจากไทย ประกาศรางวัลและจะจัดแสดงในการประชุม IBBY Congress 2006 ประเทศจีน งาน "Bologna Children's Book Fair 2007" ประเทศอิตาลี และเก็บรักษาในห้องสมุดสำหรับเด็กและเยาวชนใน 7 ประเทศ" 
 











* นิทานเรื่องนี้พิมพ์มากกว่าสามครั้ง แต่ไม่ได้พิมพ์ขายพิมพ์เป็นหนังสือนอกเวลาของ สพฐ. พิมพ์ครั้งแรกปกแข็ง ครั้งต่อๆมาเป็นปกอ่อน(คุณภาพการพิมพ์สู้ครังที่หนึ่งไม่ได้) 
*ต้องขอโทษด้วยครับถ้าบทความนี้เครียดเกินไป อภัยด้วยครับ

ไม่มีความคิดเห็น: