Powered By Blogger

วันพุธที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2554

ได้รางวัลดีเด่น PM’S CREATIVE AWARD มา



        สัญญลักษณ์รางวัล ท่านอังคาร กัลยาณพงศ์ ศิลปินแห่งชาติ เป็นผู้ออกแบบ



                                           รางวัลสาขาต่างๆ 4 สาขา




ประชุมงานรางวัล PM’s Creative Award



         ก่อนอื่นขอกล่าวที่มาที่ไปของรางวัลนี้ก่อนครับ กระทรวงพาณิชย์โดยกรมทรัพย์ทางปัญญาได้ทำโครงการรางวัล PM’s Creative Award ซึ่งรางวัลนี้ ได้ขออนุญาตจากนายกรัฐมนตรี ในการใช้ชื่อรางวัลว่า PM’s Creative Award และได้เรียนเชิญนายกรัฐมนตรีให้เกียรติเป็นประธานในพิธีมอบรางวัลและประกาศเกียรติคุณ( 4 เม.ย. 2554 นี้ ) ให้แก่ผู้สร้างสรรค์สินค้าและบริการดีเด่นของไทย ประจำปี 2554 เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ได้รับรางวัลและเพื่อเป็นการยกย่องเชิดชูเกียรติผู้สร้างสรรค์ผลงานประเภทต่างๆ ในสาขาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ซึ่งจะเป็นแรงบันดาลใจให้มีการสร้างสรรค์ผลงานเพิ่มขึ้น อันจะเป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยอย่างยั่งยืน(เขาว่าอย่างนั้น)




นายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์



                   วันแถลงข่าว “PM’s Creative Award” ครั้งแรกของเมืองไทย



                                           สื่อมวลชนจากหลายๆที่


        รางวัล PM‘s Creative Award นอกจากจะกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนได้ตระหนักถึงความสำคัญของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นเป้าหมายของรัฐบาลภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งพ.ศ.2555 แล้ว ยังคาดหวังให้ทุกภาคส่วนของสังคมไทยได้มีความเข้าใจและให้ความสำคัญกับการสร้างสรรค์ การคุ้มครอง และการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเป็นระบบและครบวงจร ว่าเป็นสิ่งจำเป็นในการแข่งขันทางเศรษฐกิจในยุคปัจจุบัน และจะเป็นแรงผลักดันสำคัญในการพัฒนาประเทศ













                                     บรรยากาศวันเปิดตัวและแถลงข่าว

ซึ่งชื่อรางวัลในแต่ละสาขาว่า เป็นครั้งแรกที่นามของบุคคลสำคัญของเมืองไทย 4 ท่าน ผู้ซึ่งมีความรู้ความสามารถเป็นที่ยอมรับในแต่ละสาขา และเป็นที่เคารพรักของคนไทย ได้มาปรากฎเป็นชื่อรางวัล ทั้งนี้ ทางกรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้รับเกียรติและได้รับอนุญาตจากเจ้าของนามและผู้แทนของเจ้าของนาม ให้นำ ชื่อท่านปูชนียบุคคลทั้ง 4 ท่านมาใช้เป็นชื่อรางวัล แยกตามแขนงสาขาต่างๆ 4 สาขา ได้แก่

1. รางวัล นริศรานุวัดติวงศ์ คือ รางวัลดีเด่นในสาขางานสร้างสรรค์ตามลักษณะงาน ได้แก่ งานออกแบบ แฟชั่น โฆษณา สถาปัตยกรรม ซอฟต์แวร์

2. รางวัล คึกฤทธิ์ ปราโมช คือ รางวัลดีเด่นในสาขาสื่อ ได้แก่ การพิมพ์และสื่อสิ่งพิมพ์ การ กระจายเสียง ภาพยนตร์วีดิทัศน์ ดนตรี

3. รางวัล เฟื้อ หริพิทักษ์ คือ รางวัลดีเด่นในสาขาศิลปะ ได้แก่ ทัศนศิลป์ และศิลปะการแสดง

4. รางวัล อังคาร กัลยาณพงศ์ คือ รางวัลดีเด่นในการสืบทอดทางวัฒนธรรม ได้แก่ งานหัตถกรรม การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การแพทย์แผนไทย อาหารไทย





           รางวัล PM’s Creative Award ยังได้รับเกียรติจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากหลายภาคส่วน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผู้ที่มีความรู้ และมีความเชี่ยวชาญในแต่ละสาขาที่จะพิจารณาให้คะแนน อีกทั้งยังเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับจากสังคมในวงกว้าง ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของเมืองไทยที่มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิกว่า 50 ท่าน จาก 15 สาขา มาร่วมพิจารณาตัดสิน ได้แก่ ม.ร.ว.จักรรถ จิตรพงศ์ ศ.ปรีชา เถาทอง รศ.ดร.เสรี วงษ์มณฑา นายนิธิ สถาปิตานนท์ เป็นต้น

นอกจากนี้ ทางโครงการยังได้รับเกียรติจากท่านอังคาร กัลยาณพงศ์ ศิลปินแห่งชาติ มาเป็นผู้ออกแบบสัญญลักษณ์และโล่รางวัล PM’s Creative Award อีกด้วย




                                ท่านอังคาร กัลยาณพงศ์ ศิลปินแห่งชาติ


หลักเกณฑ์ในการตัดสินผลงานสร้างสรรค์ทั้ง 4 สาขา จะใช้กรอบในการพิจารณาด้านความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) ที่มีความเป็นไทยชัดเจน (Thainess) มีการสอดแทรกวัฒนธรรม ประเพณี ภูมิปัญญา หรืออื่นๆ และเป็นผลงานที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวซึ่งเกิดจากการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ (Originality & Innovation) สามารถสร้างมูลค่าในเชิงธุรกิจ (Business Value) และเป็นที่ยอมรับในสังคม (Popularity) โดยได้รับการยอมรับในวงกว้างมาแล้วในระยะเวลา ไม่น้อยกว่า 1 ปี อนึ่ง ผลงานสร้างสรรค์ที่ได้รับการคัดเลือกจะมีการจัดแสดงนิทรรศการ และประกาศเกียรติคุณในวันพิธีมอบรางวัลและประกาศเกียรติคุณอีกด้วย

             เล่าทีมาที่ไปแล้วก็ขอบอกตรงๆเลยว่าไม่รู้เรื่องรางวัล PM’s Creative Award อะไรนี่เลย ก็เคยได้ยินผ่านๆ แต่ไม่เข้าใจและไม่สนใจ จนใกล้ๆปิดรับสมัครคนใกล้ๆตัวเลยบอกให้ลองส่งไปประกวดดู เลยไปโหลดใบสมัครมาลองกรอกดูแทบหงายท้อง คือความไม่ชัดเจนความไม่เข้าใจความซ้ำซ้อนที่ทางโครงการวางกฎเอาไว้ดูจริงจังจนแทบถอดใจ ถ้ากรณีที่คนส่งเป็นตัวบุคคล ไม่ใช่รูปแบบบริษัทที่มีหน่วยงานเฉพาะมีแผนกประชาสัมพันธ์ต่างหากโดยเฉพาะสาขา รางวัล เฟื้อ หริพิทักษ์ รางวัลดีเด่นในสาขาศิลปะ คือเข้าอกใจเข้าใจเลยว่ามันวุ่นวายสำหรับคนทำงานศิลปะ ที่เคยส่งประกวดงานศิลปกรรมแห่งชาติฯลฯไม่เห็นมีเอกสารอะไรมากมาย คือหนึ่งซ้ำซ้อน สองคนทำงานศิลปะกับเรื่องธุรกิจมันสวนทางกันอยู่ สามความไม่ชัดเจนของสาขาที่ประกวด คืองานศิลปะที่สร้างขึ้นจากฝีมือควรจะแยกออกจากศิลปะการแสดง นึกไม่ออกจริงๆ พอประกาศผลผู้เข้ารอบไปพรีเซ็นต์งานโอ้! กลายเป็นมดแข่งกับช้าง(เพิ่งจะไปดูสยามนิรมิตสองสามวันก่อนพอรู้ผลว่าคู่แข่งของเราอ้าว!...สยามนิรมิตนี่เอง) รู้แล้วว่าเราคนทำงานศิลปะตัวเล็กๆที่แค่ทำงานขึ้นมาเพื่อไปพิมพ์เป็นหนังสือ,ภาพประกอบหนังสือนิทานสำหรับเด็กๆ ต้องแข่งกับ โรงละครที่ใหญ่ที่สุดในโลก สยามนิรมิต, ละครแม่นาคพระโขนง The Musical ,งานจิตรกรรมชุด "ชำระกิเลส" และยังมีละครเวทีน้องๆยักษ์อีกหนึ่งคณะละครเวที ใจยักษ์ ถึงนึกออกแล้วว่าศิลปะการแสดงที่แข่งด้วยศักยภาพขนาดนี้นี่เอง ดีว่ายังมีงานศิลปะของรุ่นน้องคณะจิตรกรรมฯศิลปากรหลุดเข้ามาอีกคน แต่ขนาดงานของเราก็เล็กกว่ารุ่นน้องหลายเท่าอยู่ดี
           อีกสาขาที่ส่งคือ สาขาสื่อ รางวัล คึกฤทธิ์ ปราโมช ตกรอบเรียบร้อยจะไปสู้รายการ "คุณพระช่วย" ยังไงไหวก็ที่ส่งไป เป็นหนังสือนิทานเล่มเล็กๆ "พระในบ้าน" มดกับช้างอยู่ดี ส่วนสาขาศิลปะ รางวัล เฟื้อ หริพิทักษ์ งานที่ส่งประกวดเป็นงานศิลปะที่ปรับให้นำมาใช้เป็นงานภาพประกอบหนัง คือตั้งใจนำไปเสนอสำนักพิมพ์ ชุด "มหาเวสสันดร" ทั้งหมด 12 ภาพ




                         บางส่วนของงานศิลปะชุด "มหาเวสสันดร" 1




                           บางส่วนของงานศิลปะชุด "มหาเวสสันดร" 2


          โดยแรงบันดาลใจที่สร้างสรรค์ผลงานทั้ง 12 ภาพชุดนี้ มาจากความต้องการแสดงออกซึ่งความจงรักภักดี และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ที่มีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จึงหยิบเรื่องราวของทศชาติชาดก ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในชาติที่สิบ มาสร้างสรรค์เป็นผลงานชิ้นใหม่ เพื่อเผยแพร่แนวความคิดให้คนไทยได้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ที่ในหลวงของเราทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจยาวนานนับแต่ครองราชย์ ทรงเหน็ดเหนื่อยพระวรกาย เสียสละความสุขส่วนพระองค์ เพื่อให้ประชาชนชาวไทยได้อยู่อย่างเป็นสุข ซึ่งตรงกับเรื่องราวของพระเวสสันดร ที่ทรงบำเพ็ญทศบารมี เสียสละทุกอย่างโดยไม่หวังผลตอบแทน เพื่อประกอบทานบารมีอันยิ่งใหญ่ให้ประชาชนได้เป็นสุข จึงเป็นที่มาและแรงบันดาลใจ ในการสร้างสรรค์ผลงานชุดนี้




                          บางส่วนของงานศิลปะชุด "มหาเวสสันดร" 3





                         บางส่วนของงานศิลปะชุด "มหาเวสสันดร" 4


         หลักเกณฑ์ที่ตัดสินคงสู้ไม่ได้ในเรื่องการสร้างมูลค่าในเชิงธุรกิจ (Business Value) ที่เล่ามาทั้งหมด ไม่ได้เสียอกเสียใจ อะไรเลยครับ ดีใจครับดีใจมากด้วย ดีใจที่ฝ่าฟันหลุดเข้ารอบเหลือแค่ 5 ชิ้นงาน แล้วภูมิใจมากครับที่งานศิลปะเล็กๆ(ที่จริงไม่อยากเรียนว่างานศิลปะเพราะยังไม่ถึงขั้นนั้น เลยเลี่ยงไปใช้คำว่าศิลปะประยุกย์แต่คณะกรรมการติงว่าอย่าไปลดคุณค่าของงานลง เพราะงานเสร็จสมบรูณ์มีคุณค่าอยู่ในตัวงานอยู่แล้ว)ที่ต้องการนำมาทำเป็นภาพประกอบหนังสือให้เด็กๆ หรือหนังสือผู้ใหญ่ ได้รับเกียรติจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่คัดเลือกยังเห็นคุณค่าของงาน ถึงไม่ยิ่งใหญ่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจอะไรมากมาย แต่ก็นับว่าได้นำเอาภูมิปัญญาของงานจิตรกรรมไทย มาสร้างสรรค์ขึ้นใหม่ นำมาต่อยอดทางความคิดจนเป็นผลงานออกมาจะนำไปสู่การสร้างมูลค่าในเชิงธุรกิจหรือไม่ ไม่เคยคิดถึงเป็นสิ่งแรกสิ่งทำสำคัญคือได้ถ่ายทอดสิ่งที่อยากทำออกมาให้ดีที่สุด ก็ถือว่างานศิลปะชุด "มหาเวสสันดร" นี้ สำเร็จสมความตั้งใจของผู้ทำแล้วครับ






                          บางส่วนของงานศิลปะชุด "มหาเวสสันดร" 5


             จริงๆกรมทรัพย์สินฯประกาศผลเป็นการภายในตั้งแต่ 3 มีนาคม 2554 ที่ผ่านมาแล้ว ขอแสดงความยินดีกับผู้ชนะทั้ง 4 สาขา เพราะทั้งหมดก็คือคนไทยที่ช่วยๆกันสร้างช่วยกันนำเอาวัฒนธรรมไทยไปแข่งขันไปเผยในเวทีโลกและพัฒนารูปแบบให้ดียิ่งขึ้น ของเราไม่แพ้ใครในโลกอยู่แล้วครับ ขอบคุณกรมทรัพย์สินทางปัญญากระทรวงพาณิชย์ ที่เห็นคุณค่าของผู้สร้างสรรค์งานศิลปวัฒนธรรม ที่มอบรางวัลนี้เพื่อเป็นกำลังใจให้ ผู้สร้างสรรค์ที่นำภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมมาสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและมีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศให้เติบโตได้อย่างมั่นคงต่อไป
























      รางวัลชนะเลิศเฟื้อ หริพิทักษ์ สาขาทัศนศิลป์ สยามนิรมิต และรางวัลดีเด่นละครเวที นางนาค เดอะมิวสิคคัล,ละครเวที ใจยักษ์,จิตรกรรม "ชำระกิเลส" และศิลปะประยุกต์"มหาเวสสันดร" ทั้งสี่รางวัล












*** กรมทรัพย์สินทางปัญญา จะจัดพิธีมอบรางวัล "PM's Creative Award " ประจำปื 2553 ให้แก่ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศและมอบประกาศเกียรติคุณแก่ผู้ได้รับราวัลดีเด่นทั้ง 4 สาขา ในวันจันทร์ที่ 4 เมษายน 2554 เวลา 12.30 - 15.30 น. ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรี (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ)ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีมอบรางวัลทั้งนี้ภายในงานได้มีการจัดนิทรรศการแสดงผลงานด้านทรัพย์สินทางปัญญาในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และการจัดนิทรรศการแสดงผลงานของผู้ที่ได้รับรางวัลด้วยครับ

ขอบคุณ ภาพวันแถลงข่าวจาก  Facebook PM's Creative Award  กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์

ประกาศผล “นานมีบุ๊คส์อะวอร์ด ครั้งที่ 4 ปี 2553”

ประกาศผล “นานมีบุ๊คส์อะวอร์ด ครั้งที่ 4 ปี 2553”
อีกหนึ่งรางวัลการันตีคุณภาพนักเขียนไทย เพื่อหนังสือที่ดีสู่สังคม




              ประกาศผลไปเรียบร้อยแล้วสำหรับรางวัลนานมีบุ๊คส์อะวอร์ด ได้นักเขียนหน้าใหม่ฝีมือคุณภาพประดับวงการนักเขียนไทยอีกครั้ง หลังจากที่มีผลงานหนังสือส่งเข้าประกวดอย่างต่อเนื่องประจำทุกปีและประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ในปีนี้ได้จัดงานประกาศผลและมอบรางวัลนานมีบุ๊คส์อะวอร์ด ครั้งที่ 4 ปี 2553 เมื่อวันที่ 16 มี.ค. 2554 ที่ผ่านมากับผลงานเขียน 3 ประเภท คือ นิทานภาพส่งเสริมคุณธรรม การ์ตูนความรู้สังคมและวัฒนธรรมไทย และนวนิยายสืบสวนสอบสวน โดยได้รับเกียรติจาก คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เป็นประธานในพิธีมอบรางวัล พร้อมด้วยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิหลากสาขาจากวงการนักเขียนไทย และบรรดาสื่อมวลชนให้เกียรติเข้าร่วมงานจำนวนมาก














                  นางสุวดี จงสถิตย์วัฒนา กรรมการผู้จัดการ บริษัท นานมีบุ๊คส์

        นางสุวดี จงสถิตย์วัฒนา กรรมการผู้จัดการ บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด พูดถึงวัตถุประสงค์ ในการจัดโครงการ “นานมีบุ๊คส์อะวอร์ด” ว่า นานมีบุ๊คส์อะวอร์ดจัดขึ้นเป็นปีที่ 5 แล้ว ด้วยมุ่งหวังสร้างและส่งเสริมให้มีนักเขียนไทยฝีมือคุณภาพมากขื้น สำหรับนานมีบุ๊คส์อะวอร์ด ครั้งที่ 4 ปี 2553 ได้แบ่งการประกวดเป็น 3 ประเภท คือนิทานภาพส่งเสริมคุณธรรม การ์ตูนความรู้สังคมและวัฒนธรรมไทย และนวนิยายสืบสวนสอบสวน ด้วยคาดหวังว่า ผลงานของนักเขียนไทยที่ได้รับรางวัลเหล่านี้ จะเป็นที่ประจักษ์ต่อวงการ และกลุ่มผู้อ่านทั่วไปที่ยังแสวงหาหนังสือดี มีคุณภาพให้ลูกหลานของเราได้อ่านกัน ที่สำคัญเป็นงานเขียนของคนไทย อันควรสนับสนุนและส่งเสริมให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งนานมีบุ๊คส์ ยังคงมุ่งมั่นส่งเสริมคนไทยให้รักการอ่าน และเขียนหนังสือมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการประกวดนี้ จะเป็นอีกหนึ่งแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ได้สานต่อสิ่งที่มุ่งหวังให้เป็น จริง และเป็นอุดมการณ์ที่เราจะสานต่อโครงการนานมีบุ๊คส์อะวอร์ดอีกครั้งในปีถัดไป”










กรรมการตัดสิน ผศ.ดร.ผดุง พรมมูล ผศ.รพินทร ณ ถลาง อ.เกศินี วัฒนสมบัติ และคุณศศิธร (ลอร่า) วัฒนกุล







         รางวัล นานมีบุ๊คส์ อะวอร์ด ครั้งที่ 4 ประจำปี 2553 ได้ รับเกียรติจาก คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เป็นประธานมอบรางวัลและคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากวงการนักเขียนไทยในแต่ละ สาขา เป็นกรรมการตัดสินและประกาศเกียรติคุณแก่ผู้ได้รับรางวัล สำหรับ ประเภทนิทานภาพส่งเสริมคุณธรรม ประกอบด้วย ผศ.ดร.ผดุง พรมมูล ผศ.รพินทร ณ ถลาง อ.เกศินี วัฒนสมบัติ และคุณศศิธร (ลอร่า) วัฒนกุล ส่วนประเภทการ์ตูนความรู้สังคมและวัฒนธรรมไทย ไม่มีผลงานใดเหมาะสมได้ รับรางวัล ประเภทนวนิยายสืบสวนสอบสวน ศ.ดร.รื่น ฤทัย สัจจพันธุ์ ผศ.สกุล บุณยทัต คุณพินิจ นิลรัตน์
















                      รางวัลชนะเลิศ เรื่อง เหมียวสามขา คุณสุรศักดิ์ พุ่มรัก





















                                  คุณศศิธร (ลอร่า) วัฒนกุล ประกาศผลรางวัล





                       



                                      นักวาดนิทานภาพส่งเสริมคุณธรรม














ประเภทนิทานภาพส่งเสริมคุณธรรม รางวัลชนะเลิศ เรื่อง เหมียวสามขา โดย คุณสุรศักดิ์ พุ่มรัก รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 เรื่อง ตังค์ทอน โดย คุณก้องเกียรติ กองจันดี รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 เรื่อง แม่จ๋า แม่ไปไหน / ลูกจ๋า แม่มาแล้ว โดย คุณฉันทนา ยกมาพันธ์ และราววัลชมเชย เรื่อง ไม่ทำแล้วครับ โดย คุณวีระยุทธ เลิศสุดวิชัย เรื่อง เพื่อนซี้ ไม่ทิ้งกัน โดย คุณณัฐชดา จันทมาลา และคุณเบญจรัตน์ เอี่ยมรัตน์ และเรื่อง ขนมของยาย โดย คุณธีรนุช ผุดสวัสดิ์




กรรมการตัดสินประเภทนวนิยายสืบสวนสอบสวน  ศ.ดร.รื่น ฤทัย สัจจพันธุ์ ผศ.สกุล บุณยทัต คุณพินิจ นิลรัตน์




















                                   ผศ.สกุล บุณยทัต ประกาศผลรางวัล








                     โฉมหน้านักเขียนผู้ได้รับรางวัล นวนิยายสืบสวนสอบสวน





           ประเภทนวนิยายสืบสวนสอบสวน รางวัลชนะเลิศ เรื่อง สัตยาบันเลือด โดย คุณนฤชา เหมือนในงาม รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 เรื่อง พรหม-ลิขิต-ฆาต โดย คุณนวลาภ ธีรธนาธร รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 เรื่อง ปริศนาใต้เงาจันทร์ โดย คุณพรศักดิ์ อุรัจฉัทชัยรัตน์ และรางวัลชมเชย เรื่อง รังสีอำมหิต โดย คุณชัยกร หาญไฟฟ้า สำหรับประเภทการ์ตูนความรู้สังคมและวัฒนธรรมไทย ไม่มีผลงานใดที่เหมาะสมได้รับรางวัลในปีนี้










        








  อัปเดทใหม่สัมภาษณ์ นักวาดทั้ง 6 รางวัล จากนิตยสารเล่มโปรด เดือน เม.ย. 2554
             

            ประกาศผลไปหลายวันแล้วแต่เพิ่งมีเวลา เลยเก็บภาพบรรยากาศวันมอบรางวัลมาฝาก ส่วนนานมีบุ๊คส์ ก็ยังคงเดินหน้าเฟ้นหาต้นฉบับเข้าประชันต่อเนื่อง ในเวทีนานมีบุ๊คส์อะวอร์ด ครั้งที่ 5 ประจำปี 2554 สำหรับโครงการประกวดต้นฉบับรางวัลนานมีบุ๊คส์อะวอร์ด ครั้งที่ 5 ประจำปี 2554 ได้แบ่งการประกวดเป็น 3 ประเภท คือ ประเภทนิทานภาพส่งเสริมคุณธรรม สำหรับผู้อ่านวัย 3 - 8 ปี ประเภทหนังสือภาพเสริมความรู้ สำหรับผู้อ่านวัย 3 -8 ปี และ เรื่องสั้นแรงบันดาลใจ สำหรับผู้อ่านวัย 18 ปี ขึ้นไป ชิงรางวัลเงินสดรวมมูลค่า 630,000 บาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ โดยเปิดรับผลงานตั้งแต่มีนาคม – 30 กันยายน 2554 ประกาศผลและมอบราววัลเดือนมีนาคม 2555 ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.nanmeebooks.com หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่ คุณลภัสรดา อนันตศรี โทรศัพท์ 0-2662-3000 ต่อ 5230 โทรสาร 0-2662-0334 E-mail: editorial@nanmeebooks.com